ความหมายและลักษณะสำคัญของ E-Learning
คำว่า E-Learning ในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในส่วนสถาบันการศึกษาที่ใช้ในการเรียนการสอน ศึกษาหาความรู้ และทางหน่วยงาน องค์กรภาครัฐและเอกชน ต่างๆ ที่ใช้ในการอบรมให้ความรู้ แก่บุคลากร แต่ในคำว่า E-Learning แท้จริงแล้วคืออะไร โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิให้ความหมาย คำจำกัดความของ คำว่า E-Learning ไว้อย่างมากมาย ในที่นี้ผู้เขียนขอหยิบยกตัวอย่างความหมายและลักษณะสำคัญของ E-Learning อ้างอิงข้อมูลจาก Designing e-Learning หลักการออกแบบและการสร้างเว็บเพื่อการเรียนการสอนโดย ผศ.ดร.ถนอมพร (ตันพิพัฒน์) เลาหจรัสแสง(2545) ได้ให้ความหมายของ E-Learning เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
ความหมายของ E-Learning โดยทั่วไป คำว่า E-Learning จะครอบคลุมความหมายที่กว้างมาก กล่าวคือ จะหมายถึง การเรียนในลักษณะใดก็ได้ ซึ่งใช้การถ่ายทอดเนื้อหาผ่านทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต เอ็กซทราเน็ต หรือ ทางสัญญาณโทรทัศน์ หรือสัญญาณดาวเทียม (Satellite) ก็ได้ ซึ่งเนื้อหาสารสนเทศ อาจอยู่ในรูปแบบการเรียนที่เราคุ้นเคยกันมาพอสมควร เช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction) การสอนบนเว็บ (Web Based Instruction) การเรียนออนไลน์ (On-line Learning) การเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม หรืออาจอยู่ในลักษณะที่ยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายนัก เช่น การเรียนจาก วีดิทัศน์ตามอัธยาศัย (Video On-Demand) เป็นต้น
ความหมายของ E-Learning เฉพาะเจาะจง ส่วนใหญ่เมื่อกล่าวถึง E-Learning ในปัจจุบันจะหมายเฉพาะถึง การเรียนเนื้อหาหรือสารสนเทศสำหรับการสอนหรือการอบรม ซึ่งใช้นำเสนอด้วยตัวอักษร ภาพนิ่ง ผสมผสานกับการใช้ภาพเคลื่อนไหววีดิทัศน์และเสียง โดยอาศัยเทคโนโลยีของเว็บ (Web Technology) ในการถ่ายทอดเนื้อหา รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีระบบการจัดการคอร์ส (Course Management System) ในการบริหารจัดการงานสอนด้านต่าง ๆ เช่น การจัดให้มีเครื่องมือการสื่อสารต่าง ๆ เช่น e-mail, web board สำหรับตั้งคำถาม หรือแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างผู้เรียนด้วยกัน หรือกับวิทยากร การจัดให้มีแบบทดสอบ หลังจากเรียนจบ เพื่อวัดผลการเรียน รวมทั้งการจัดให้มีระบบบันทึก ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการเรียน โดยผู้เรียนที่เรียนจาก E-Learning นี้ ส่วนใหญ่แล้วจะศึกษาเนื้อหาในลักษณะออนไลน์ ซึ่งหมายถึงจากเครื่องที่มีการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ลักษณะสำคัญของ E-Learning ที่ดีประกอบไปด้วยลักษณะสำคัญ ดังนี้
1. Anywhere, Anytime คือ ผู้เรียนสามารถจะเป็นใครก็ได้ไม่จำกัดเฉพาะนักศึกษาหรือบุคลากร สามารถเรียนจากสถานที่ใดก็ได้ และสามารถเรียนเวลาใดก็ได้ตามความต้องการของผู้เรียน
2. Multimedia เป็นการนำเสนอในรูปแบบสื่อประสม บนเทคโนโลยีเว็บ ประกอบด้วยข้อความ รูปภาพภาพเคลื่อนไหว และเสียง ตลอดจนวีดิทัศน์ เพื่อให้กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความคงทนในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น
3. Non-linear ผู้เรียนมีอิสระในการเรียน สามารถเข้าถึงเนื้อหาตามความต้องการโดย E-Learning จะต้องจัดหาการเชื่อมโยงที่ยืดหยุ่นแก่ผู้เรียน
4. Interaction มีการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนโต้ตอบ (มีปฏิสัมพันธ์) กับเนื้อหาหรือกับผู้อื่นได้
5. Immediate Response มีการออกแบบให้มีการทดสอบ การวัดผลและการประเมินผล ซึ่งให้ผลป้อนกลับโดยทันทีแก่ผู้เรียนไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะของแบบทดสอบก่อนเรียน (Pre-test) หรือแบบทดสอบหลังเรียน (Posttest)
จากความหมายของ E-Learning ที่แสดงไว้ข้างต้นนี้ คงทำให้ผู้อ่านเข้าใจในคำว่า E-Learning มากขึ้น ในส่วนมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า ในด้านความหมายของ E-Learning มีผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ E-Learning ไว้แตกต่างกันไป ตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคล แต่ที่มีส่วนเหมือนกันก็คือ ความหมายที่ว่า E-Learning คือการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลและเครือข่าย เข้ามาเป็นเครื่องมือในกระบวนการเรียนการสอน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการเรียนรู้และแก้ปัญหา ในเรื่องข้อจำกัดทางด้านสถานที่และเวลา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่เป็นระบบ และประกอบกับเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เครือข่ายกับการเรียนรู้ด้วย E-Learning เป็นอุปกรณ์ด้านอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นที่มาของ “Electronic Learning” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “E-Learning”
ก้าวแรก ถึงปัจจุบันของ E-Learning
ในอดีตที่ผ่านมา ได้มีการจัดการเรียนการสอนโดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการลองผิดลองถูกกันอย่างมากมาย บางครั้งโอกาสเป็นไปได้น้อยมากที่จะประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกันกับ การเรียนการสอนที่ใช้ E-Learning ได้มีการทดลองใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ก็ยังมีอุปสรรคในด้านของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทั้งทางด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ที่มีราคาแพง ประสิทธิภาพการใช้งานที่จำกัด ตลอดจนความไม่พร้อมของบุคลากร และเทคโนโลยีเครือข่าย การสื่อสารที่ยังมีข้อจำกัดด้านความเร็ว ทำให้ในการนำเสนอด้านมัลติมีเดีย ในส่วนของแอนิเมชัน รูปภาพ กราฟิค มีอัตราการแสดงผลที่ช้ามาก ซึ่งผลกระทบต่อความสนใจของผู้เรียนอย่างมาก แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารที่เรียกว่า Hi-Speed Internet มีความเร็วที่สูงขึ้น และมีการปรับราคาที่ถูกลง ทำให้ปัญหาต่างๆ ที่พบในอดีตเริ่มหมดไป ซึ่งจะเห็นได้จากความเร็วและประสิทธิภาพในการแสดงผลทางด้านมัลติมีเดียต่างๆ ทำให้สร้างความดึงดูดความสนใจในตัวผู้เรียนได้อย่างน่าพอใจ และทำให้การเรียนการสอนระหว่างผู้สอนและผู้เรียน มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การเรียนการสอนในปัจจุบันได้มีการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเครือข่าย โดยการเรียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เข้ามาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่เรียกว่า E-Learning ถือว่าเป็นนวัตกรรมในการพัฒนาคุณภาพด้านการเรียนการสอนต่อผู้เรียน โดยการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เป็นสื่อกลาง ซึ่งถือว่าเป็นเป็นความสำเร็จทางวิชาการ โดยกระบวนการเรียนการสอนที่ใช้สื่อที่ทันสมัยเปิดโอกาสให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างมากมาย โดยการบริหารจัดการทางวิชาการ และสถาบันทางการศึกษาต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาแนวทางการเรียนรู้โดยการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student Centered) การสนับสนุนให้เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ และแรงจูงใจในการเรียนรู้
การใช้ E-Learning ในการจัดการศึกษา
สถาบันการศึกษาทุกระดับทั่วโลกพยายามที่จะใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และให้ความสำคัญกับการเรียนแบบ E-Learning มากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทย สถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในการใช้ E-Learning รวมทั้งมีแนวทางในการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยออนไลน์ (Online University) หรือการเรียนการสอนแบบทางไกลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และมหาวิทยาลัยบางแห่งได้เปิดรับสมัครนักศึกษา หลักสูตร E-Learning ในหลายๆ สาขาวิชา และมีแนวโน้มที่นักศึกษาให้ความสนใจสมัครเรียนมากขึ้นเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มขนาดของมหาวิทลัยได้เป็นเท่าตัวโดยที่ทางมหาวิทยาลัยไม่ต้องมีการลงทุนเพิ่มในส่วนของอาคารเรียน ห้องเรียน ซึ่งค่าใช้จ่ายที่สำคัญจะเป็นค่าใช้จ่ายในด้านคอมพิวเตอร์และเครือข่าย เท่านั้น
ถือได้ว่าการเรียนการสอนด้วย E-Learning เป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สามารถตอบสนองต่อผู้เรียนได้มากกว่าการจัดการศึกษาในห้องเรียน เป็นช่องทางในการให้โอกาสในการศึกษาของทุกคนมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังเป็นการพัฒนาตามศักยภาพและความสนใจของตัวผู้เรียน ที่มีอิสระในการเลือกเนื้อหาสาระของการเรียนรู้ ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเรียน วิธีการเรียนรู้ คือเรียนอย่างไรให้เป็นระบบ เนื่องจากไม่มีผู้สอนคอยให้ความรู้เหมือนในห้องเรียน ผู้เรียนต้องมีทักษะกระบวนการในการเรียนรู้ เลือกวิธีการเรียนรู้และวิธีการประมวลผลความรู้ ด้วยตนเอง ทำให้เกิดผลดีในแง่ของการเรียนรู้ การสร้างองค์ความรู้ ด้วยตนเองและเป็นการพัฒนาความสามารถในด้านกระบวนการคิดที่มีคุณภาพ ทำให้เกิดทักษะ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ และเมื่อประชากรทุกคนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง ก็จะส่งผลดีต่อสังคม ประเทศชาติ ให้พัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
สรุป
การเรียนการสอนแบบ E-Learning เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่สถานศึกษา หน่วยงาน องค์กรทุกระดับ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอน พัฒนาแหล่งการเรียนรู้ ในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม โดยการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ทำให้ระบบศึกษาเปลี่ยนจากเดิม โดยเปิดโอกาสให้เรียนรู้ผ่านมัลติมีเดียบนเว็บ ผู้เรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั่วโลก ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ผู้เรียนอิสระในการเรียน สามารถเป็นผู้ควบคุมการเรียนของตนเอง ช่วยส่งเสริมการเรียนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดกระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธภาพ
เอกสารอ้างอิง
1) ถนอมพร (ตันพิพัฒน์) เลาหจรัสแสง. Designing e-Learning หลักการออกแบบและการสร้างเว็บเพื่อการเรียนการสอน. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2545.
2) พงศ์กร จันทราช. บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน นวัตกรรมเพื่อการศึกษา การเขียนโปรแกรมภาษาจาวาเบื้องต้น. เชียงใหม่ : ภาควิชาเทคโนโลยีสารสรเทศ มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น, 2549.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น