หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

STIM Model

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิดเชิงระบบ
การจัดการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน สิ่งที่มีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดทักษะให้จงได้ คือ ทักษะกระบวนการคิด  ทั้งนี้ การคิด (Thinking)  ในปัจจุบัน มีผู้สนใจพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้ที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพการคิดให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนในหลากหลายแนวทาง  แต่ในที่นี้ จะนำเสนอแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิดเชิงระบบ (Systems Thinking Instructional Model : STIM)  รายละเอียดของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางของ  STIM  มีทั้งหมด  6  ขั้นตอน
ประกอบด้วย
                ขั้นที่ 1  การสร้างความขัดแย้งกังขา  จะเป็นการเฟ้นหาสถานการณ์ เรื่องราวที่จะก่อให้เกิดการคิดได้หลากหลายแนวทาง หรือ เหตุการณ์ที่มีความขัดแย้งในตนเอง มีทั้งถูกและทั้งผิดพร้อม ๆ กัน หากแต่อาจจะมองต่างมิติกันก็ได้
                ขั้นที่  2  ค้นคว้าข้อมูล  เป็นกระบวนการศึกษา ค้นคว้าเพื่อหาคำตอบทางวิชาการให้กับตนเอง หรืออาจจะจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้จากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่หลากหลาย
                ขั้นที่ 3  สมบูรณ์ความคิด  เป็นกระบวนการเรียนรู้จากผู้รู้ หรือครู  ด้วยการฟัง หรือการซักถาม สอบถาม สัมภาษณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูล ข้อคิด ประสบการณ์มากกว่าจะอาศัยข้อมูลจากตำราเพียงอย่างเดียว
                ข้นที่ 4  เสวนามวลมิตร   เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันกับกลุ่มเพื่อน โดยการแบ่งเข้ากลุ่ม ๆ ละ 6-7  คน เพื่อนำเสนอผลการคิดของตนเองต่อกลุ่มเพื่อนและทำการหลอมรวมความคิดเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว
                ขั้นที่  5  เสนอความคิดกลุ่มใหญ่  เป็นการนำผลงานการคิดร่วมกันในกลุ่มย่อยเข้ามาเสนอต่อที่ประชุมกลุ่มใหญ่  จะทำให้ผู้เรียนได้มองเห็นแง่มุมของการเรียนรู้ที่หลากหลาย
                ขั้นที่ 6  สร้างความมั่นใจร่วมกัน เป็นขั้นที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนร่วมกันสรุปสาระและแนวคิดสำคัญ ที่ได้เรียนรู้และสร้างสรรค์ร่วมกันมาตลอดทั้งกระบวนการ
                การจัดการเรียนการสอน ตามแนวทาง STIM – Model นี้ เป็นการนำแนวคิดตามทฤษฎีการสร้างสรรค์ความรู้เองโดยผู้เรียนมาใช้ (Constructivism)  ถ้าผู้เรียนได้ถูกฝึกฝนกระทำเช่นกระบวนการที่กล่าวมาแล้วบ่อย จะส่งผลทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะกระบวนการคิดได้อย่างเป็นระบบมากขึ้นอย่างแน่นอน  หากแต่ผู้จัดการการเรียนรู้ จะต้องใช้ความมานะ พยายามและอดทนอย่างสูงในการที่จะต้องมานั่งคิด ออกแบบ วางแผนให้สามารถตอบสนองต่อกระบวนการคิดได้อย่างหลากหลายและครอบคลุมทั้งสาระและกระบวนการคิด
                หากท่านที่สนใจโปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากวิทยานิพนธ์ ฉบับสมบูรณ์ตามบรรณานุกรมที่ปรากฏท้ายข้อเขียนนี้
มนตรี  แย้มกสิกร. (2546). การพัฒนารูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาการคิดเชิงระบบของนิสิตระดับ
ปริญญาตรี สาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา. ปริญญานิพนธ์ กศ.ด. (การวิจัยและพัฒนาหลักสูตร). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น